จากผลงานวิจัย ซึ่งเป็นการวิเคราะห์สังเคราะห์ผลงานและพระไตรปิฎก ฉบับภาษาบาลี ออกเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยเริ่มจากการแปลหมวดพระสูตรของพระไตรปิฎก จำนวน 20 เล่ม สำหรับการแปลในระยะที่ 1 และจะให้แล้วเสร็จระยะที่ 2 อีก 5 เล่ม รวมทั้งการแปล หมวดพระวินัย จำนวน 8 เล่ม และหมวดพระอภิธรรม จำนวน 12 เล่ม รวมทั้งหมดสำหรับการแปล เพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมเผยแพร่ และถ่ายทอดของโครงการ ระยะที่ 2 เป็นจำนวนพระไตรปิฎก 25 เล่ม
เนื่องจากพระไตรปิฎกแต่ละเล่ม มีความหมายไม่น้อยกว่า 400 หน้า ขนาด A4 คณะผู้ดำเนินการแปลและการถ่ายทอดได้ประชุมตกลงกัน มีความเห็นว่า ในการดำเนินกิจกรรม จะใช้เอกสารประกอบการดำเนินกิจกรรม เล่มที่แปลและจัดรูปเล่มเสร็จสมบูรณ์แล้ว เพื่อเป็นแนวทางในการใช้เป็นเอกสารหรือคู่มือ ในการศึกษาความหมายของคำ และข้อความในพระไตรปิฎก โดยที่ได้จัดรูปเล่มสำหรับการดำเนินกิจกรรม ออกเป็น 3 ลักษณะ คือ (ในภาคผนวก)
1. คู่มือองค์ความรู้โครงการจัดการความรู้พระไตรปิฎกพระพุทธศาสนา เพื่อการเผยแพร่สู่ระดับสากล ระยะที่ 2
2. พระไตรปิฎกฉบับแปลจากบาลีอักษรไทย เป็นภาษาไทย และบาลีอักษรโรมัน เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งต้นฉบับที่ใช้ในการแปล คือ พระไตรปิฎกบาลี ฉบับสยามรัฐ จำนวน 45 เล่ม
3. บทสรุปเนื้อหาและสาระสำคัญจากพระไตรปิฎกฉบับแปลทั้งที่เป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษของพระไตรปิฎกแต่ละเล่ม
ทั้งนี้ องค์ความรู้ทั้งหมดจะนำไปเผยแพร่ในระบบออนไลน์ โดยทำเป็นเว็บไซต์ เฉพาะของโครงการ เพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษาตัวอย่างจากแต่ละฉบับเป็นเบื้องต้น เพื่อจะได้ซักถาม หรือติดต่อขอรูปเล่มฉบับสมบูรณ์ทั้งหมดต่อไป
คู่มือองค์ความรู้
คณะผู้ดำเนินการเผยแพร่และถ่ายทอดความรู้ ได้จัดทำคู่มือองค์ความรู้สำหรับผู้เข้ารับการถ่ายทอดจากกิจกรรมได้จัดให้ในรูปเล่ม ประกอบด้วยสาระใน 3 บท และภาคผนวก ในบทที่ 1 คือบทนำ ประกอบด้วย ความเป็นมา, พระไตรปิฎกฉบับแปลสำคัญอย่างไร, วัตถุประสงค์และผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการศึกษาพระไตรปิฎกฉบับแปล, เหตุผลในการจัดทำคู่มือฉบับนี้
ในบทที่ 2 เป็นบทที่ว่าด้วย วิธีการศึกษาพระไตรปิฎก ฉบับแปลนี้เป็นภาษาอังกฤษ ประกอบด้วย เนื้อหา 2 เรื่อง คือ วิธีการศึกษาพระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ และวิธีการศึกษาพระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นภาษาไทย
ในบทที่ 3 เป็นบทที่ว่าด้วย แบบฝึกหัดการแปล ประกอบด้วย เนื้อหาสาระ 2 ส่วน คือ บทแปลจากบาลีอักษรโรมัน เป็นภาษาอังกฤษ และบทแปลจากบาลีอักษรไทย เป็นภาษาไทย สำหรับให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติในการศึกษาทำความเข้าใจกับการแปลคำต่อคำ (การแปลโดยพยัญชนะ)
ในภาคผนวกของคู่มือ ได้แสดงรายนามผู้แปลจากบาลีเป็นภาษาอังกฤษ และจากบาลีเป็นภาษาไทย ในกรณีผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยการซักถาม หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแปลจะได้ซักถามได้ตรงตัวบุคคล
พระไตปิฎกฉบับแปล
จากการดำเนินการตั้งแต่โครงการ ระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 2 การจัดทำข้อมูลเสนอผู้เข้าร่วมกิจกรรม จะพบความแตกต่างของการจัดทำรูปเล่มในส่วนบทที่เป็นรูปแบบของลักษณะการแปล แต่การจัดทำรูปเล่มมีความเหมือนกัน กล่าวคือ พระไตรปิฎกต้นฉบับ 1 เล่ม เมื่อแปลแล้วจะจัดทำเป็น 4 เล่ม เนื่องจากมีความหน้าไม่ต่ำกว่า 1,600 หน้าต่อเล่ม แต่ละเล่มจะจัดพิมพ์ด้วยขนาดกระดาษ A4 สำหรับความแตกต่างก็คือ ฉบับแปลเป็นภาษาไทย ยกศัพท์บาลี 1 คำ แล้วแปลต่อกันไป แต่ส่วนของฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ จะยกบาลี 1 ท่อน ไว้ด้านบนของหน้า และบทแปลคำต่อคำจะอยู่ด้านล่าง แต่จำนวนคำทั้งของบาลีและภาษาอังกฤษจะเท่ากัน การอธิบายการทำเป็นรูปเล่มจะมีการอธิบายในกิจกรรมเผยแพร่แต่ละครั้ง
บทสรุปเนื้อหา
ผู้ดำเนินโครงการเผยแพร่พระไตรปิฎกฉบับแปล ได้จัดทำบทสรุปเนื้อหาสาระสำคัญของพระไตรปิฎกแต่ละเล่มออกเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ในแต่ละเล่ม จะเป็นบทสรุปที่ประกอบด้วย บทนำ ที่กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการแปล และความสำคัญของพระไตรปิฎกเล่มนั้น ๆ ต่อจากบทนำจะเป็นความสำคัญของการจะต้องช่วยกันสืบทอดพระพุทธศาสนา โดยที่จะต้องเรียนรู้ถึงโครงสร้างของพระไตรปิฎก ต่อจากนั้นจะเป็นการสรุปเนื้อหา ที่เรียงลำดับกันในพระไตรปิฎก เล่มที่นำมาสรุปว่ามีสาระประกอบด้วยอะไรบ้าง เช่น ในพระสูตรเล่ม 1 (พระไตรปิฎกเล่ม 9) จะมีเรื่องราวและพระธรรมคำสอน 10 เรื่องด้วยกัน เป็นต้น และในตอนท้ายของบทสรุป จะเป็นการกล่าวถึงการใช้พระไตรปิฎกฉบับแปลว่า จะส่งผลให้ได้ประโยชน์ สำหรับผู้นำไปศึกษาอย่างไรบ้าง (รายละเอียดของบทสรุปอยู่ในภาคผนวก)